ทปอ.ชี้เวลาเปลี่ยน ตำราถูกด้อยค่า แนะอาจารย์ปรับตัว -เด็กลงทะเบียนทีแคสแล้ว 2.7 แสนราย
นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวเปิดงานประชุมวิชาการ ทปอ.ประจำปี 2564 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตอนหนึ่งว่า หลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ 2-3 ปี การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วมาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอุดมศึกษา ทั้งด้านเทคโนโลยี สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีได้เข้ามากระทบต่อบทบาท วิธีการ และเป้าหมายของมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้เราการใช้อินเตอร์เน็ตมากมาย ส่งผลให้ความรู้ที่เคยเรียนผ่านการอ่านหนังสือ ตำรา เปลี่ยนไป เวลานี้ความรู้ต่างๆ เราเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาทางอินเตอน์เน็ต รวมทั้งภาคธุรกิจ บริษัท ก็สามารถให้ความรู้ได้เช่นกัน ทั้งรวดเร็วและก้าวหน้ากว่าความรู้ที่ได้จากตำรา ทำให้ครูอาจารย์ และผู้เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อความอยู่รอด และความก้าวหน้าต่อไป
นายบัณฑิต กล่าวต่อว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้มหาวิทยาลัยต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งขณะนี้เราก็ขาดรูปแบบนี้ไม่ได้ ทำให้ความรู้ต่างๆ เปิดกว้างมากขึ้น ส่วนผู้เรียนก็ไม่ได้จำกัดแค่นิสิตนักศึกษา แต่เป็นคนทุกคนที่เรียนรู้ได้ตลอดเวลา บทบาทการสอนของครูอาจารย์ที่เราเรียกว่า “สอนหนังสือ” หน้าห้องเรียน จากตำราจึงถูกด้อยค่าอย่างรวดเร็ว ครูอาจารย์จึงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการปรับหลักสูตรต่างๆ ให้ยืดหยุ่น ในอดีตเราใช้ศาสตร์ต่างๆ ในการกำหนดการทำงาน เช่น แพทยศาสตร์ จบไปเป็นหมอ นิติศาสตร์ จบเป็นทนายความ เป็นต้น แต่โลกวันนี้และโลกอนาคต งานเป็นตัวกำหนดศาสตร์ ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องสอนในลักษณะสหศาสตร์มากขึ้น เปิดโอกาสให้ระบบการเรียนในมหาวิทยาลัยเรียนรู้ศาสตร์ที่กว้างขึ้น เชื่อมโยงศาสตร์เดิมที่สอนเข้าหากัน ระบบการสอนและหลักสูตรต้องยืดหยุ่น แต่ขณะนี้หลักสูตรไทยค่อนข้างแข็งตัว กำหนดว่านิสิตนักศึกษาต้องเรียนอะไรบ้าง แต่ส่วนตัวอยากให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนในสิ่งที่ตนเองอยากเรียน มากกว่าต้องเรียนในสิ่งที่หลักสูตรกำหนดไว้ การสอนของอาจารย์ยังจำเป็นแต่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัย เพิ่มศักยภาพนิสิตนักศึกษาด้านการแข่งขัน ด้านความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งความอดทนที่จะทำงานให้สำเร็จ การเปลี่ยนแปลงของอาจารย์และมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เรื่องง่าย ถือเป็นเรื่องท้าทาย แต่หากเราเปิดใจ สร้างความร่วมมือ ตนเชื่อว่าจะทำให้มหาวิทยาลัยไทยยังคงคุณค่าและอยู่สังคมไทยไปอีกนาน
ด้านนายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยหรือ ที่แคส กล่าวว่า ที่ประชุมทปอ. เมื่อเร็ว ๆ รับทราบผลการลงทะเบียนเข้าร่วมระบบทีแคส ข้อมูลล่าสุด วันที่ 18 ธันวาคม มีผู้ลงทะเบียนสำเร็จแล้ว 272,342 ราย ซึ่งถือว่า มีผู้ลงทะเบียนค่อนข้างเร็ว เนื่องจากเดิมจะเปิดรับสมัครสอบความถนัดทั่วไป หรือGAT และความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือPAT ในวันที่ 15 ธันวาคม แต่เลื่อนไปเป็นวันที่ 21 มกราคม 2565 แทน ส่วนการรับสมัครทีแคสรอบแรก พิจารณาจากแฟ้มสะสมงาน หรือ พอร์ตโฟลิโอ นั้นอยูระหว่างดำเนินการ และจะประกาศผลวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565